วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติ



ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L.
วงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่อสามัญ Pudding Pine, Indian Laburnum, Golden Shower
ชื่ออื่นๆ คูน ลมแล้ง บางท้องถิ่นเรียกว่า ชัยพฤกษ์



ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8 - 15 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงสลับ มีใบย่อย 3 - 8 คู่ แผ่นใบรูปป้อม รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 4 - 8 เซนติเมตร ยาว 7 - 15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนมน ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตามซอกใบ หรือตามกิ่ง ยาว 20 - 45 เซนติเมตร ผลเป็นฝักทรงกระบอก ยาว 20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร




นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียแถบร้อน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป
ออกดอก กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ทิ้งใบก่อนออกดอก
ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด




วิธีการเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ นำเมล็ดมาตัดหรือทำให้เกิดบาดแผลที่ปลายเมล็ดแล้ว แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง หรือแช่กรดซัลฟูริค เข้มข้น 1.84 ประมาณ 15 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง วิธีนี้สะดวกแต่อันตราย และอีกวิธีหนึ่งคือ ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทลงในเมล็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน ทั้ง 3 วิธีนี้จะทำ ให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปและพร้อมที่จะงอก วิธีเพาะ อาจหยอดลงในถุงดินที่เตรียมไว้หรือจะเพาะในแปลงเพาะแล้วย้ายชำกล้าในภายหลัง ควรให้เมล็ดอยู่ใต้ผิวดิน 3-5 มิลลิเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 1-2 สัปดาห์
ประโยชน์ รากฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง ทนทาน ใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ

ไม่มีความคิดเห็น: